วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

สังเวชนียสถาน ๔ แห่ง ๔ ตำบล

           พระบรมศาสดาจึงนำเหล่าภิกษุสงฆ์เสด็จพุทธดำเนินข้ามแม่น้ำหิรัญญวดีในเมืองกุสินารานคร แล้วเสด็จเข้าไปประทับ ณ สาลวันอุทยาน ของเหล่ามัลลกษัตริย์ใกล้เมือง กุสินารานคร แคว้นมัลละ โปรดให้พระอานนท์ปูลาดเตียงที่บรรทม ณ ระหว่างไม้รัง ต้นสาละ ทั้งคู่ แล้วเสด็จบรรทมสีหไสยา เป็นการนอนอย่างราชสีห์ คือนอนตะแคงขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มือซ้ายพาดไปตามลำตัว มือขวาช้อนศีรษะไม่พลิกกลับไปมา มีสติสัมปชัญญะ แต่มิมีอุฏฐานสัญญามนสิการ คือ ไม่มีพุทธประสงค์จะลุกขึ้นอีกต่อไป เนื่องจากเป็นไสยาวสาน คือ นอนครั้งสุดท้ายจึงนิยมเรียกว่า อนุฏฐานไสยา คือนอนโดยไม่ลุกขึ้นอีก

           ในเวลานั้น พระอานนท์เถระเจ้าได้กราบทูลว่า

"ในกาลก่อนเมื่อออกพรรษาแล้ว บรรดาพุทธบริษัททั้งหลายในทิศต่าง ๆ ได้เข้าใกล้ สนทนาปราศัยได้ความเจริญใจ ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว ข้าพระองค์ทั้งหลายจักไม่ได้โอกาสอันดีเช่นนั้น เหมือนกับเมื่อพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่อีกต่อไป"

           เมื่อพระอานนท์กราบทูลเช่นนั้นพระพุทธเจ้าตรัสว่า

"อานนท์ สังเวชนียสถาน ๔ ตำบลนี้ เป็นสถานที่ควรแก่ความสังเวช เมื่อผู้มีศรัทธาได้ไปยังสถานที่ ๔  แห่งนี้ด้วยความเลื่อมใสเมื่อทำการกิริยา คือ ตายลงแล้ว จักได้ถึงสุคติ ไปเกิดในโลกสวรรค์ สังเวชนียสถานทั้ง ๔ อันได้แก่


๑. สถานที่พระพุทธองค์ประสูติจากพระครรภ์
๒. สถานที่พระพุทธองค์ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๓. สถานที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมจักร
๔. สถานที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน
           อนึ่ง สังเวชนียสถาน มีความหมายถึง เป็นสถานที่ตั้งแห่งความสังเวช แต่คำว่าสังเวชในทางธรรมนั้น มีความหมายลึกซึ้งกว่าความหมายของคำว่าสังเวชที่พบเห็นกันทั่ว ๆ ไป กล่าวคือ ในทางธรรมหมายถึง ความรู้สึกสลดใจที่ทำให้คิดได้ถึงพระไตรลักษณ์  คือ ความเป็นอนิจจัง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ความทุกข์สลดใจ ความยึดมั่นถือมั่นไว้ไม่ได้  ทำให้จิตใจหันมานึกถึงสิ่งที่ดีงามเกิดความไม่ประมาท เพียรพยายามทำสิ่งที่เป็นกุศลต่อไป จึงจะเรียกว่า สังเวช

๑.  สถานที่พระพุทธองค์ทรงมีพระประสูติกาลจากพระครรภ์พระมารดา คือ อุทยานลุมพินี ตั้ง อยู่กึ่งกลางระว่างกรุงกบิลพัสดุ์และกรุงเทวทหะ กรุงกบิลพัสดุ์เป็นเมืองหลวงของแคว้นสักกะ กรุงเทวทหะเป็นเมืองหลวงของแคว้นโกลิยะ ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศเนปาลห่างชายแดนภาคเหนือของประเทศอินเดีย ๖ กิโลเมตรครึ่ง บัดนี้เรียกว่า รุมมินเด

                                                         สถานที่ทรงประสูติ-เสาหินพระเจ้าอโศกมหาราช


๒. สถานที่พระพุทธองค์ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ คือ ใต้ร่มไม้พระศรีมหาโพธิ์ ภายในป่าสาละ ใกล้แม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ ปัจจุบันคือ ควงไม้พระศรีมหาโพธิ์ ที่ตำบลพุทธคยา รัฐพิหารประเทศอินเดีย


                                          มหาเจดีย์ที่พุทธคยา-สถานที่ทรงตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ

๓. สถานที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมจักร คือ สถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา โปรดปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ทางทิศเหนือของเมืองพาราณสี แคว้นกาสี ปัจจุบันนี้เรียกว่า สารนาถพาราณสี บัดนี้เรียกว่า วาราณสี ประเทศอินเดีย

                     ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน สารนาถพาราณสี-สถานที่ทรงแสดงปฐมเทศนาธรรมจักรกัปปวัตตนสูตร

๔. สถานที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน คือ ที่สาลวโนยาน เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ ปัจจุบันี้เรียก เมืองกาเซีย จังหวัดโครักขปุระ ประเทศอินเดีย

                                       สาลวโนยาน เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ-สถานที่ปรินิพพาน


สถานที่ทั้ง ๔ ตำบลนี้แล ควรที่พุทธบริษัท คือภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา มีความเชื่อความเลื่อมใสในพระตถาคตเจ้า จะดูจะเห็นและควรจะให้เกิดความสังเวชทั่วกัน"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น